วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เป็นเอดส์ยังมีความหวัง (2)

จากบทความที่แล้วหมอได้เล่าถึงผลของการใช้การแพทย์ทางเลือก ในการบรรเทาอาการแทรกซ้อนของโรคเอดส์ในแมว ซึ่งได้ผลดี แต่กรณีที่ต้องใช้วิธีฝังเข็มนั้นค่อนข้างจะยุ่งยากหากไม่สามารถนำแมวมาพบหมอได้ ดังนั้นจึงขอเล่าเพิ่มเติมถึงการใช้ การนวดกดจุดแบบการแพทย์จีน แทนการฝังเข็ม แต่ต้องขอออกตัวก่อนว่าอ่านของอาจารย์ฝรั่งมา ไม่ได้ใช้วิธีนี้กับสัตว์ป่วยเพราะตัวเองเป็นสัตวแพทย์จึงชอบวิธีที่เห็นผลเร็ว การนวดกดจุดต้องทำบ่อยกว่าเหมาะสำหรับเจ้าของสัตว์ หรือ คนใกล้ชิด

ตำแหน่งจุดในร่างกายของคนสามารถเทียบลักษณะทางกายวิภาคมาเป็นของสัตว์ได้ โดยใช้จุดฝังเข็มเป็นเกณฑ์ จุดที่แนะนำให้ใช้กดจุดต่อไปนี้ Dr. Cheryl Schwartz ได้เป็นผู้ลองทำการรักษาแมวป่วย ด้วยโรคไวรัสรวมถึงโรคเอดส์ด้วย เธอมีประสบการณ์ในการใช้การแพทย์ทางเลือกมาไม่น้อยกว่า 15 ปี น่าเสียดายที่เธอไม่ได้รวมเป็นงานวิจัย จึงไม่มีตัวเลขแมวป่วยที่แน่นอน

จุดที่แนะนำมีดังนี้

ST36 หรือมีชื่อจีนว่า จู๋ซานหลี่

หน้าที่ : ช่วยพลังชี่ทั่วทั้งร่างกายแข็งแรงขึ้น บำรุงพลังที่เกี่ยวกับภูมิต้านทาน กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว และช่วยการสร้างเลือดและการย่อยอาหาร

ตำแหน่ง : ด้านนอกของขาหลังใต้หัวเข่า ใกล้กับสันหน้าแข้ง จุดนี้อยู่กึ่งกลางของมัดกล้ามเนื้อ กดด้วยแรงกดคงที่เป็นวงกลม

PC 6 หรือ เน่ยกวาน

หน้าที่ : เพิ่มการสร้างเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะเมื่อใช้กับ ST36 นิยมใช้ในเรื่องวิตกกังวล คลื่นไส้

ตำแหน่ง : ด้านในของขาหน้า เหนือระดับอุ้งเท้าอันบนสุดพอดี ซึ่งอุ้งเท้านี้จะอยู่เหนือข้อเท้าเล็กน้อย จุดนี้อยู่ระหว่างเส้นเอ็นสองเส้นที่ชิดกันมาก ยาวลงมาตามแนวขา ให้งอข้อเท้าขาหน้าของแมว และกดจุดลงไปบนระหว่างเส้นเอ็นนั้น

LI 4 หรือเหอกู่

หน้าที่ : กระตุ้นระบบภูมิต้านทานโดยเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดขาว บทบาทในการกำจัดสารพิษต่างๆ เพิ่มการสร้าง interferon ซึ่งจะช่วยต่อสู้กับเชื้อไวรัส จุดนี้สามารถใช้ในระหว่างมีการแพร่ระบาด ใช้ลดไข้ ป้องกันโรค ทำให้ระบบน้ำเหลืองยังคงทำงาน และเสริมพลังภูมิต้านทาน

ตำแหน่ง : ง่ามนิ้วของนิ้วติ่งของขาหน้ากับกระดูกที่ต่อจากข้อเท้าของนิ้วถัดไป เราสามารถนวดจุดนี้ไปบนง่ามนิ้ว โดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่โป้งของเรานวดเบาๆในลักษณะเดินหน้าและถอยหลัง

LI 11 หรือชีฉือ

หน้าที่ : เพิ่มการสร้างเม็ดเลือดขาว กำจัดสารพิษ และลดไข้

ตำแหน่ง : ด้านนอกของขาหน้า ที่ข้างหลังของปุ่มกระดูกข้อศอกเล็กน้อยขณะงอข้อศอก กดที่จุดนี้วนเป็นวงกลมด้วยแรงกดคงที่

GV 14 หรือ ต้าจุ้ย

หน้าที่ : กระตุ้นการหมุนเวียนของเม็ดเลือดขาวที่จะช่วยกำจัดพิษ ใช้ลดไข้ได้ดีเมื่อมีการติดเชื้อเฉียบพลัน

ตำแหน่ง : บนเส้นกลางตัวของสันหลังบริเวณกระดูกสันคอชิ้นสุดท้ายกับกระดูกสันหลังของอกชิ้นแรก ตรงเหนือรอยต่อของกระดูกสองชิ้นนี้ หาจุดนี้พบง่ายได้โดยการขยับคอแมวให้ก้มลงและไปข้างหน้า หรือขยับคอให้เงยขึ้นลง จุดจะอยู่ตรงที่กระดูกคอสุดท้ายอยู่นิ่งต่อกับกระดูกสันหลังของอก ใช้ปลายนิ้วหรือเล็บกดไปข้างหน้าและหลังกลับไปกลับมา ด้วยแรงกดที่มากแต่ไม่ทำให้เขาเจ็บ

SP 6 หรือ ซานอินเจียว

หน้าที่ : ช่วยของเหลวและเลือดในร่างกาย ช่วยการไหลเวียนเลือดและพลังให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้องเสีย อาเจียน น้ำหนักลด

ตำแหน่ง ; ด้านในของขาหลัง หลังกระดูก ใต้จุดเริ่มต้นของเอ็นร้อยหวายที่ต่อมาจากมัดกล้ามเนื้อ

K I3 หรือ ไท่ซี

หน้าที่ : ช่วยไตควบคุมระบบภูมิต้านทาน ดีสำหรับอาการเลือดจาง ลิวคีเมีย การขาดน้ำ ปัญหาของไขกระดูก

ตำแหน่ง : ด้านในของขาหลัง ที่พอดีเหนือข้อเท้า อยู่กึ่งกลางระหว่างเอ็นร้อยหวายกับปุ่มกระดูกข้อเท้าด้านหลัง จับจุดนี้ด้วยนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือนาน 15หรือ 30 วินาที

BL 23 หรือเสิ้นซู่

หน้าที่ : กระตุ้นภูมิต้านทาน

ตำแหน่ง : หลุมบนกล้ามเนื้อสองข้างของกระดูกสันหลัง ระหว่างกระดูกเอวท่อนที่ 2 และ 3 กดในลักษณะวนเป็นวงกลมออกไปนอกตัว กดไปข้างหน้าและหลังกลับไปกลับมา

อาจต้องใช้ความพยายามและความอดทนอยู่ซักหน่อยสำหรับผู้เลี้ยง แต่ทั้งหมดนี้คงเป็นเรื่องง่ายๆ ได้ เพราะความรักและความผูกผันที่ทั้งคุณและเจ้าเหมียวมีให้กัน หากเราได้เห็นพวกเขามีความสุขมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพียงแค่นั้นก็ทำให้หายเหนื่อยได้ หมอก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คน

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

จะติดต่อหมอได้อย่างไร จะปรึกษาเรื่องแมวค่ะ

Doctor KO กล่าวว่า...

คุณปานทิพย์ กรุณาติดต่อหรือส่งเมล์ถึงคุณหมอได้ที่ secret.vetholistic@gmail.com ค่ะ