วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

โภชนะบำบัด Dietetics ตอนที่ 1


ช่วงนี้ย่างเข้าฤดูฝนเต็มที่แล้วหลังจากวันเข้าพรรษา ฝนที่ตกตลอดแทบไม่เว้นแต่ละวัน และสิ่งที่มาพร้อมกับฝนและความอับชื้น ศัตรูตัวฉกาจของบรรดาสัตว์เลี้ยงที่แสนรักนั่นก็คือบรรดา เห็บ หมัด ที่มีจำนวนมากและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในฤดูกาลนี้ พาหะนำโรคร้ายนานาชนิดและยังสามารถสร้างความทรมานให้กับเจ้าตูบและเจ้าเหมียวได้อย่างมาก ในช่วงนี้หมอจึงอยากแนะนำให้พวกเราช่วยกันดูแลพวกเขาเป็นพิเศษสักหน่อย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ที่นอนของสัตว์เลี้ยง หรือตามบริเวณที่อับชื้นต่างๆ ภายในบ้าน ซึ่งมักจะกลายเป็นที่อยู่และแพร่พันธุ์ของเหล่า เห็บ หมัด เป็นอย่างดี

การใส่ใจดูแลในสิ่งแวดล้อม และสนใจแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีในการป้องกันและดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยง เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขอย่างแน่นอน

และเรื่องที่จะมาเล่าในคราวนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องของการป้องกันอีกเช่นกัน ครั้งนี้ว่าด้วยเรื่องอาหารการกิน เรื่องใกล้ตัวที่มีความสำคัญมาก แต่มักจะถูกปล่อยปละละเลยหรือมองข้ามความสำคัญไป เพราะผู้เลี้ยงส่วนใหญ่มักตามใจปากหรือทนลูกอ้อนและสายตาเว้าวอนจากบรรดาเจ้าตูบและเจ้าเหมียวไม่ไหว ในหลายๆ ครั้งสัตว์ที่เข้ามารักษาก็เกิดอาการป่วยเนื่องมาจาก การกินที่ไม่ถูกต้อง นี่แหละ อาหาร หากเรากินได้ถูกส่วนและเหมาะสมก็เป็นได้ทั้ง การบำรุงสุขภาพร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และยังสามารถป้องกันและ รักษาโรคได้

"โภชนะบำบัด" (Dietetics) คือการใช้อาหารหรือสารอาหารในการฟื้นฟูสุขภาพและแก้ปัญหาโรค เมื่อได้รับอย่างเหมาะสมตามความต้องการของร่างกาย เรามาเริ่มกันที่

วิตามิน บี1 (ไทอามีน) Thiamine มีในยีสต์ ถั่วมีฝัก ส้ม มันฝรั่งสุก ขนมปัง ไข่แดง ร่วมเป็นตัวตั้งต้นของ โคเอนไซม์ Coenzyme ทำหน้าที่ผลิตพลังงานให้ร่างกาย มีผลต่อเนื้อเยื่อทั้งหมด โดยเฉพาะ เส้นประสาท สมอง และหัวใจ

การขาดและความเป็นพิษ เกิดอาการเบื่ออาหาร อาเจียน น้ำหนักลด ขาดน้ำ อัมพาต เดินไม่ตรง ชัก หัวใจผิดปกติ มีการโค้งลงของคอ ที่เรียกว่า Chastek paralysis, ม่านตาขยาย

ไม่พบความเป็นพิษในสุนัขและแมว

ความต้องการต่อวัน 2 mg. ในแมว และ 7.5 mg. ในสุนัข

โคลีน (Choline) เป็นวิตามินที่สังเคราะห์ได้เองที่ตับ มักไม่มีอาการขาด ทำหน้าที่ช่วยการสังเคราะห์สารสื่อประสาท ชื่อ Acetylcholine กระตุ้นการรับรู้ของปลายประสาท ช่วยสังเคราะห์ Phosphatidylcholine ซึ่งมีความสำคัญในผนังเซลช่วยส่งไขมันออกจากตับและช่วยสังเคราะห์ Methionine และ Dimethylglycine โคลีนมีอยู่มากในเนื้อสัตว์และ ถั่วต่างๆ

อาการขาด เกิดภาวะไขมันพอกตับ โปรตีนไข่ขาว Albumin ต่ำในเลือด ค่าตับ alkaline phosphatase hematocrit hemoglobin สูงขึ้น ระยะแข็งตัวของเลือด prothrombin time นานขึ้น

ความเป็นพิษ ท้องร่วงเรื้อรังหากได้รับเกิน 10 g./วัน

ความต้องการต่อวัน สุนัข 7.5 mg. แมว 5 mg.

วิตามิน บี 5 (กรดแพนโทเทนิก) Pantothenic Acid แพนเททีน แคลเซียมแพนโททีเนต
มีอยู่ในอาหารส่วนใหญ่ เช่น ตับ ถั่วลิสง เมล็ดงา แอปเปิ้ล ผลิตภัณฑ์นม ไข่ เนื้อสัตว์ วิตามิน บี 5 เป็นส่วนประกอบใน โคเอนไซม์ เอ Coenzyme A ซึ่งเกี่ยวข้องเกือบจะทุกขบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ช่วยทำให้เกิดพลังงานในเซลล์

อาการขาด เบื่ออาหาร น้ำตาลในเลือดต่ำ คลอไรด์ในเลือดต่ำ ยูเรียในเลือดสูงขึ้น กระเพาะลำไส้อักเสบ ชัก ไขมันพอกตับ โคม่า และอาจเสียชีวิตได้

ยังไม่มีความรายงานความเป็นพิษ

ความต้องการต่อวัน สุนัข 7.5 mg. แมว 5 mg.
ใช้ในการรักษาอาการแพ้อาหารในสุนัขและแมว 20-150 mg.

ยังมีวิตามินอีกหลายชนิดซึ่งจะนำมาเสนอให้ได้ติดตามกันต่อในคราวหน้า หวังว่าบรรดาเจ้าตูบและเจ้าเหมียว จะได้ กินดีมีสุขและถูกหลัก กันมากขึ้น ก็น่าจะทำให้บรรดาผู้เลี้ยงได้ กินอิ่มนอนหลับ เพราะบรรดาสัตว์เลี้ยงแสนรักสุขภาพดีกันถ้วนหน้า




วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การฝังเข็มสุนัข Dog acupuncture


ในคราวก่อนๆ หมอได้เคยกล่าวถึง การรักษาในแบบแพทย์ทางเลือก ซึ่งโดยหลักของแพทย์ทางเลือกนั้นคือ การบรรเทาอาการ ฟื้นฟู และส่งเสริมการรักษาร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันหนึ่งในนั้นคือ การฝังเข็ม (Acupuncture) และประโยชน์ที่ได้จากการฝังเข็มทำให้เลือดและระบบลมปราณไหลเวียนดีขึ้น ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลย์ของร่างกายที่เจ็บป่วย จากการศึกษาของแพทย์แผนปัจจุบันยังพบว่าการฝังเข็มทำให้เกิดการหลั่งสาร "เอนเคพฟาลีน และเอนดอร์ฟิน" ซึ่งจะไปช่วยระงับอาการปวดได้ นอกจากนี้ยังมีสารสื่อประสาทและ Mediator ที่คอยช่วยลดอาการอักเสบและช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมอาการบาดเจ็บอีกด้วย การรักษาด้วยการฝังเข็มยังเป็นที่ยอมรับของ องค์การอนามัยโลก และรับรองการรักษาอาการป่วยกว่า 30 โรค

ในครั้งนี้หมอขอเสนอการรักษาด้วยการฝังเข็ม ในคลิปวิดิโอเป็นการฝังเข็มให้กับสุนัขเพศเมีย ชื่อ น้องเฟิร์น อายุ 10 ปี มีอาการป่วยเรื่อรังจากข้อขาหลังอักเสบ ทำให้ไม่สามารถเดิน หรือวิ่งได้ดี จนเคยเกือบจะต้องพิการและไม่สามารถใช้ขาหลังได้ ก่อนหน้านี้น้องเฟิร์นได้เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดและรับการฝังเข็มจนอาการดีขึ้นและสามารถเดินและวิ่งได้เกือบปกติ แต่อาการของน้องเฟิร์นกลับมาไม่ดีอีกเนื่องจากได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมตามที่หมอได้แนะนำ ซึงหมอมักจะย้ำเตือนกับผู้เลี้ยงอยู่เสมอๆ เรื่องการป้องกัน ดูแล และเอาใจใส่กับบรรดาสัตว์เลี้ยง เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา



ไม่ว่าจะเป็น การรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือ การแพทย์ทางเลือก ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการเอาใจใส่ดูแล และการปฏิบัติอย่างถูกต้องตั้งแต่เบื้องต้น ทั้งในเรื่องอาหารการกิน สภาพแวดล้อมที่ดี และสภาพจิตใจ ซึ่งบรรดาสัตว์เลี้ยงของเราต้องการไม่น้อยไปกว่าอย่างอื่นเลย แต่ถึงกระนั้นหากสัตว์เลี้ยงของเราต้องเจ็บป่วยขึ้นมา การรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งไม่ว่าการรักษานั้นจะเป็นด้วยวิธีใด เพื่อสุขภาพอันดีของบรรดาสัตว์ที่เรารัก