วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ทฤษฎีใหม่ทางการแพทย์ "Psyco-Neuro-Endrocrino-Immunology"


ในบทเริ่มนี้ขอประเดิมด้วยการมาให้ความสนใจเรื่องหลักการทางการแพทย์กันก่อน ซึ่งที่จริงแล้วหลักการแพทย์องค์รวมก็มีอยู่รอบๆ ตัวเรานี่เอง และมีงานค้นคว้าวิจัยกันเพิ่มขึ้นในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทางวิทยาภูมิคุ้มกัน ที่มีคำภาษาอังกฤษชื่อเท่และยาวมากว่า "Psyco-Neuro-Endrocrino-Immunology" ความหมายง่ายๆก็คือ "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" ถ้ามีกำลังใจไม่ดี ระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ จะแปรปรวนกระทบต่อภูมิต้านทานของร่างกายจนเกิดอาการเจ็บป่วยได้โดยไม่มีรอยโรคทางกายภาพหรือสาเหตุต้นตอที่ชัดเจน

ความเจ็บป่วยที่ไม่ได้มีรากฐานสาเหตุมาจากเชื้อโรคหรือความผิดปกติทางร่างกาย เมื่อคนหรือสัตว์ป่วยมาตรวจร่างกาย เจาะเลือดในระยะต้นๆ จะต้องบอกว่าสุขภาพปกติ มีมากครั้งที่หมอคนและหมอรักษาสัตว์หาสาเหตุของโรคไม่ได้ เพราะผลตรวจทางกายภาพ ทางร่างกาย ผลเลือด ผลเอกซเรย์ อัลตร้าซาวด์ ปกติหมด??? การหาสาเหตุไม่พบเหล่านี้จึงเป็นที่มาของ ทฤษฎีใหม่ทางการแพทย์ ที่สามารถเป็นส่วนต่อไปยังคำตอบที่เรียกว่าเส้นผมบังภูเขาได้ เนื่องจากยังมีมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากโรคทางกายภาพ คือ จิตใจ สังคมและสิ่งแวดล้อมมาร่วมด้วย

ขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจซักเรื่อง มีแมวแก่ตัวหนึ่งมีชื่อว่า "แหลม" มาหาหมอเพราะอาเจียนเป็นฟองน้ำลาย อาการอื่นๆ ไม่เห็นอาการอะไรชัดเจน จากการตรวจคลำพบว่า แหลมมีฟันหลุดไปหลายซี่ ขาดน้ำ ยังมีเรี่ยวแรงดีชีพจรและสีของเหงือกปกติ ไม่ผอม ต่อมน้ำเหลืองปกติ ท้องแน่นเล็กน้อย ล้วงตรวจทางทวารพบว่าท้องผูกแข็งมาก หลังจากที่พยายามล้วงและสวนอุจจาระอยู่พักใหญ่ ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงให้น้ำเกลือและเก็บแมวเข้ากระเปำ พี่เลี้ยงจึงมีเวลาเล่าประวัติต่อว่า แหลมเป็นแมวแก่หมดเขี้ยวเล็บถูกตัวอื่นรุมกัดบ่อย จึงถูกย้ายนำไปไว้ในห้องพระ ซึ่งจะไม่มีโอกาสมาออกกำลังหรือสังสรรค์กับคนหรือสัตว์ตัวอื่น ทำให้หมอถึงบางอ้อว่าทำไมเมื่อปีก่อนแหลมจึงใช้เวลาในการฟื้นตัวยากเย็นกว่าแมวแก่รายอื่นๆ ทั้งที่ผลเลือดปกติทุกอย่าง??? พอเล่าจบเขาก็เบ่งอุจจาระเป็นก้อนแข็งมาก และมีอาเจียนออกมาเป็นก้อนขนด้วย รวมทั้งปัสสาวะเป็นมูกใสฉุนสีเข้ม วันรุ่งขึ้นพี่เลี้ยงบอกว่าแมวกินน้ำเองดูมีความสุขขึ้น หมอจึงสรุปกรณีตัวอย่างนี้ว่า แมวเกิดความเครียดที่ถูกกักขัง วันๆไม่รู้จะทำอะไรเอาแต่เลียขน กินอะไรไม่ค่อยลงเพราะก้อนขน และความเครียด ทำให้ไม่นึกอยากขับถ่าย ทางแก้ไข ไม่ใช่ที่ยาหรืออาหารป้องกันก้อนขนเป็นหลัก แต่ต้องปรับที่สิ่งแวดล้อมและสังคมที่ทำให้เขาเกิดความเครียด ปัญหานี้จึงจะไม่กลับมาอีก

ถ้าหมอไม่สนใจเรื่องกำลังใจ (ทฤษฎีการแพทย์ใหม่) แมวตัวนี้จะถูกนัดมาสวนอุจจาระ กินยาระบาย ให้น้ำเกลือเพื่อทดแทนอาการขาดน้ำ ฝังเข็ม เหมือนปีก่อน นานๆเข้าไม่ค่อยดีขึ้นเท่าที่ควรก็จะต้องฝากโรงพยาบาลให้ตรวจอย่างละเอียด เช่น ตรวจเลือดครบชุด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ กินสารทึบแสงเพื่อหารอยโรค ถ้าไม่แน่ใจก็ส่งตรวจอัลตร้าซาวด์เพิ่มขึ้น ขั้นตอนเหล่านี้ใช้ทั้งเวลาและเงินทอง และยิ่งเพิ่มความเครียดให้สัตว์อย่างมาก หากหมอจะมีความสามารถในการซักถามให้ละเอียดกว่านี้ หนที่แล้วเจ้าแหลมคงไม่ต้องมานอนโรงพยาบาลนานถึงสองอาทิตย์เพียงเพราะช่วยกระตุ้นทางเดินอาหารให้ทำงานตามปกติ ด้วยการสวนอุจจาระ และป้อนอาหารจนกว่าจะกินได้ด้วยตัวเอง!! เนื่องจากหาสาเหตุไม่พบ

ทฤษฎีใหม่ทางการแพทย์จะพยายามให้มองมุมกว้างถึงสาเหตุปัจจัยโน้มนำ ที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย มีทั้งเกิดจากโรคและโลก สังคมสมัยใหม่ทำให้เกิดโรคแปลกๆ ที่หาสาเหตุชัดเจนไม่ค่อยได้ เช่น มะเร็ง ภูมิคุ้มกันไวเกิน (พวกโรคพุ่มพวง) ภูมิแพ้ โรคอ้วน ความดัน โรคข้อเสื่อม (เดียวนี้ไม่เฉพาะเจาะจงในพันธุ์ใหญ่ อายุมากแล้ว เป็นได้ทุกพันธุ์ ทุกอายุ) หมอมักจะพูดให้เจ้าของฟังเป็นการตำหนิแบบนิ่มนวลซักหน่อยว่า "โรคกินดีอยู่ดี" เพราะเพียงแค่ลดการปรนเปรออาหารที่ล้นเกินทั้งคุณภาพและปริมาณ โอกาสที่จะเกิดโรคเหล่านี้ก็จะลดลง (ความเห็นส่วนตัวจากการสังเกตรูปร่าง การเลี้ยงดูของสัตวในกลุ่มนี้)

ทุกวันนี้หมอจะพยายามโน้มน้าวเจ้าของสัตว์ให้มาสนใจ อาหาร สิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา เขาไม่ได้เป็นเจ้าตัวยุ่งที่แสนจะแข็งแรงน่ารักอย่างที่คุณมองเห็นในภาพที่คุณฝังใจจำไว้ แต่เขาเป็น สิ่งมีชิวิตสิ่งหนึ่งที่สะท้อนการกระทำของคุณออกมา วันหนึ่งข้างหน้าในชีวิตของเขาจะสดใสหรือขรุขระ ตัวคุณเท่านั้นที่จะช่วยพาเขาให้ผ่านพ้นไปได้

ไม่มีความคิดเห็น: