วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เป็นเอดส์ยังมีความหวัง (2)

จากบทความที่แล้วหมอได้เล่าถึงผลของการใช้การแพทย์ทางเลือก ในการบรรเทาอาการแทรกซ้อนของโรคเอดส์ในแมว ซึ่งได้ผลดี แต่กรณีที่ต้องใช้วิธีฝังเข็มนั้นค่อนข้างจะยุ่งยากหากไม่สามารถนำแมวมาพบหมอได้ ดังนั้นจึงขอเล่าเพิ่มเติมถึงการใช้ การนวดกดจุดแบบการแพทย์จีน แทนการฝังเข็ม แต่ต้องขอออกตัวก่อนว่าอ่านของอาจารย์ฝรั่งมา ไม่ได้ใช้วิธีนี้กับสัตว์ป่วยเพราะตัวเองเป็นสัตวแพทย์จึงชอบวิธีที่เห็นผลเร็ว การนวดกดจุดต้องทำบ่อยกว่าเหมาะสำหรับเจ้าของสัตว์ หรือ คนใกล้ชิด

ตำแหน่งจุดในร่างกายของคนสามารถเทียบลักษณะทางกายวิภาคมาเป็นของสัตว์ได้ โดยใช้จุดฝังเข็มเป็นเกณฑ์ จุดที่แนะนำให้ใช้กดจุดต่อไปนี้ Dr. Cheryl Schwartz ได้เป็นผู้ลองทำการรักษาแมวป่วย ด้วยโรคไวรัสรวมถึงโรคเอดส์ด้วย เธอมีประสบการณ์ในการใช้การแพทย์ทางเลือกมาไม่น้อยกว่า 15 ปี น่าเสียดายที่เธอไม่ได้รวมเป็นงานวิจัย จึงไม่มีตัวเลขแมวป่วยที่แน่นอน

จุดที่แนะนำมีดังนี้

ST36 หรือมีชื่อจีนว่า จู๋ซานหลี่

หน้าที่ : ช่วยพลังชี่ทั่วทั้งร่างกายแข็งแรงขึ้น บำรุงพลังที่เกี่ยวกับภูมิต้านทาน กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว และช่วยการสร้างเลือดและการย่อยอาหาร

ตำแหน่ง : ด้านนอกของขาหลังใต้หัวเข่า ใกล้กับสันหน้าแข้ง จุดนี้อยู่กึ่งกลางของมัดกล้ามเนื้อ กดด้วยแรงกดคงที่เป็นวงกลม

PC 6 หรือ เน่ยกวาน

หน้าที่ : เพิ่มการสร้างเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะเมื่อใช้กับ ST36 นิยมใช้ในเรื่องวิตกกังวล คลื่นไส้

ตำแหน่ง : ด้านในของขาหน้า เหนือระดับอุ้งเท้าอันบนสุดพอดี ซึ่งอุ้งเท้านี้จะอยู่เหนือข้อเท้าเล็กน้อย จุดนี้อยู่ระหว่างเส้นเอ็นสองเส้นที่ชิดกันมาก ยาวลงมาตามแนวขา ให้งอข้อเท้าขาหน้าของแมว และกดจุดลงไปบนระหว่างเส้นเอ็นนั้น

LI 4 หรือเหอกู่

หน้าที่ : กระตุ้นระบบภูมิต้านทานโดยเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดขาว บทบาทในการกำจัดสารพิษต่างๆ เพิ่มการสร้าง interferon ซึ่งจะช่วยต่อสู้กับเชื้อไวรัส จุดนี้สามารถใช้ในระหว่างมีการแพร่ระบาด ใช้ลดไข้ ป้องกันโรค ทำให้ระบบน้ำเหลืองยังคงทำงาน และเสริมพลังภูมิต้านทาน

ตำแหน่ง : ง่ามนิ้วของนิ้วติ่งของขาหน้ากับกระดูกที่ต่อจากข้อเท้าของนิ้วถัดไป เราสามารถนวดจุดนี้ไปบนง่ามนิ้ว โดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่โป้งของเรานวดเบาๆในลักษณะเดินหน้าและถอยหลัง

LI 11 หรือชีฉือ

หน้าที่ : เพิ่มการสร้างเม็ดเลือดขาว กำจัดสารพิษ และลดไข้

ตำแหน่ง : ด้านนอกของขาหน้า ที่ข้างหลังของปุ่มกระดูกข้อศอกเล็กน้อยขณะงอข้อศอก กดที่จุดนี้วนเป็นวงกลมด้วยแรงกดคงที่

GV 14 หรือ ต้าจุ้ย

หน้าที่ : กระตุ้นการหมุนเวียนของเม็ดเลือดขาวที่จะช่วยกำจัดพิษ ใช้ลดไข้ได้ดีเมื่อมีการติดเชื้อเฉียบพลัน

ตำแหน่ง : บนเส้นกลางตัวของสันหลังบริเวณกระดูกสันคอชิ้นสุดท้ายกับกระดูกสันหลังของอกชิ้นแรก ตรงเหนือรอยต่อของกระดูกสองชิ้นนี้ หาจุดนี้พบง่ายได้โดยการขยับคอแมวให้ก้มลงและไปข้างหน้า หรือขยับคอให้เงยขึ้นลง จุดจะอยู่ตรงที่กระดูกคอสุดท้ายอยู่นิ่งต่อกับกระดูกสันหลังของอก ใช้ปลายนิ้วหรือเล็บกดไปข้างหน้าและหลังกลับไปกลับมา ด้วยแรงกดที่มากแต่ไม่ทำให้เขาเจ็บ

SP 6 หรือ ซานอินเจียว

หน้าที่ : ช่วยของเหลวและเลือดในร่างกาย ช่วยการไหลเวียนเลือดและพลังให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้องเสีย อาเจียน น้ำหนักลด

ตำแหน่ง ; ด้านในของขาหลัง หลังกระดูก ใต้จุดเริ่มต้นของเอ็นร้อยหวายที่ต่อมาจากมัดกล้ามเนื้อ

K I3 หรือ ไท่ซี

หน้าที่ : ช่วยไตควบคุมระบบภูมิต้านทาน ดีสำหรับอาการเลือดจาง ลิวคีเมีย การขาดน้ำ ปัญหาของไขกระดูก

ตำแหน่ง : ด้านในของขาหลัง ที่พอดีเหนือข้อเท้า อยู่กึ่งกลางระหว่างเอ็นร้อยหวายกับปุ่มกระดูกข้อเท้าด้านหลัง จับจุดนี้ด้วยนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือนาน 15หรือ 30 วินาที

BL 23 หรือเสิ้นซู่

หน้าที่ : กระตุ้นภูมิต้านทาน

ตำแหน่ง : หลุมบนกล้ามเนื้อสองข้างของกระดูกสันหลัง ระหว่างกระดูกเอวท่อนที่ 2 และ 3 กดในลักษณะวนเป็นวงกลมออกไปนอกตัว กดไปข้างหน้าและหลังกลับไปกลับมา

อาจต้องใช้ความพยายามและความอดทนอยู่ซักหน่อยสำหรับผู้เลี้ยง แต่ทั้งหมดนี้คงเป็นเรื่องง่ายๆ ได้ เพราะความรักและความผูกผันที่ทั้งคุณและเจ้าเหมียวมีให้กัน หากเราได้เห็นพวกเขามีความสุขมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพียงแค่นั้นก็ทำให้หายเหนื่อยได้ หมอก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คน

เป็นเอดส์ยังมีความหวัง


ในบทความนี้จะขอเปลี่ยนบทความเบาๆ สำหรับสัตว์เลี้ยงมาเป็นเรื่องหนักๆ ของทั้งคนและเจ้าเหมียวแสนรัก

โรคเอดส์ เป็นโรคที่หากใครได้ยินได้ฟังก็ต้องรู้สึกประหวันพรันพรึง ไม่อยากพบพานหรือเข้าใกล้ด้วยประการทั้งปวง เพราะเข้าใจว่าโรคนี้เป็นแล้วไม่หายมีและมีแต่รอวันที่อาการจะทรุดลงเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงโรคเอดส์นั้นถือว่าเป็นโรคที่รักษาได้ถึงแม้จะไม่หายขาด และการลงมือป้องกันปราบปรามโรคร้ายนี้ยังคงต้องเข้มข้นกันต่อไป

หัวข้อที่น่าสนใจก็คือ การแพทย์ทางเลือก จะมีส่วนเสริมภูมิต้านทานแก่ผู้เป็นโรคนี้ได้หรือไม่??? อย่างเช่น การฝังเข็มเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หมอเคยถามแพทย์ฝังเข็มว่าได้เคยทดลองทำการฝังเข็มให้กับผู้ป่วยบ้างไหม คำตอบที่ได้รับทำให้ต้องอึ้งและจนด้วยเหตุผลก็คือ "ไม่กล้าทำ เพราะกลัวเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากเข้มที่มาจากผู้ป่วย"

ถ้าเราลองหันมาดูคุณเหมียวที่ไม่ยอมนอนหวดจนต้องยืนยันความเป็นแมวเก้าชีวิตด้วยความเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจ เคล็ดลับคือ เพราะไม่รู้เลยไม่เสียกำลังใจ (ใครที่มีเพื่อนหรือคนรู้จักที่กำลังเสียใจกรุณาเล่าเรื่องแมวตัวเล็กๆ เหล่านี้ให้เขาเป็นตัวอย่าง เผื่อเขาจะลองคิดอย่างแมวดู) อาจารย์ฝรั่งของหมอมีเพื่อนทำงานทางภาคเหนือของบ้านเราเคยเล่าให้ฟังว่า ผู้ป่วยโรคเอดส์ชาวไทยเคยได้รับการฝังเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (ซึ่งไม่มีตัวรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการ) กลับพบว่าผลไม่เป็นตามที่คาดหวัง สิ่งเดียวที่หมอคิดว่ามีความแตกต่างกันระหว่างคนกับแมวนั้นก็คือ กำลังใจ

จากการที่หมอได้ติดตามแมวมากกว่า 5 ตัว ที่ป่วยด้วยโรคนี้และได้รับการรักษาด้วยการฝังเข็มสัปดาห์ละครั้ง นาน 5 ครั้ง ซึ่งพบว่าแมวมีอาการกระปรี้กระเปร่า อยากอาหาร เริ่มเล่นหยอกล้อบ้าง ส่วนแผลในปากและอาการท้องเสียนั้นอาจจะดีขึ้นจากยาแผนปัจจุบันที่ใช้ร่วมกัน โดยถือ หลักการแพทย์ผสมผสาน

แมวเหล่านี้อาจมีผลเลือดที่ไม่ดีนัก เช่น เลือดจาง ติดเชื้อ เม็ดเลือดขาวต่ำ ก็จะให้ยาแผนปัจจุบันกินร่วมด้วย ติดที่ว่าเป็นงานวิจัยจึงไม่สามารถนำยาสมุนไพรมาใช้ในกลุ่มทดลองได้ งานวิจัยนี้ยังไม่สิ้นสุดโครงการแต่ขาดนิสิตมาทำงานในส่วนของห้องปฏิบัติการจึงยังไม่สรุปผล แต่ที่หมอรุ้สึกก็คือ อาการจะดีขึ้น (มีตัวหนึ่งดีเกินไปจนหนีเที่ยวไปประสบเหตุถูกสุนัขรุมกัดตาย ทำเอาหมอมึนไประยะหนึ่ง)

ทีนี้ ถ้าเราไม่ฝังเข็มจะเลือกใช้วิธีอื่นได้บ้างไหม คำตอบคือ มี ใช้ได้ทั้งยาสมุนไพรจีน วิตามิน อาหารเสริมแบบต่างๆ รวมถึงการนวดกดจุดแบบจีน ส่วนผลนั้น หมอไม่ทราบเนื่องจากไม่ได้ลองทำวิธีเหล่านี้เป็นหลัก แต่ผู้เขียนตำรานวดกดจุดแบบจีน Dr. Cheryl Schwartz ได้แนะนำให้เจ้าของแมวลองใช้ดู ซึ่งเธอมีประสบการณ์ด้านการสัตวแพทย์ทางเลือกมากว่า 15 ปีแล้ว

ซึ่งจะขออนุญาตแปลบางส่วนมาลงไว้เป็นวิทยาทาน ส่วนตัวของหมอที่ใช้ในตัวที่ป่วยนอกเหนืองานวิจัย (งานวิจัยจะกำหนดตำแหน่งจุดไม่สามารถเปลี่ยนตามอาการได้) ก็ไม่ตรงกับผู้เขียนตำราเนื่องจากบ้านเรามียาดีอยู่มาก หาได้ง่าย และเน้นการฝังเข็มมากกว่าจึงขอไม่กล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัว แต่อาจจะนำมาเล่าให้ฟังในครั้งต่อๆ ไป

หลักการใช้สมุนไพรในรายที่มีภูมิต่ำ จะใช้เพื่อบำรุง (tonification) และใช้เพื่อการป้องกัน (prevention) ดังนั้นไม่ว่าคุณจะแนะนำใครที่เป็นโรคนี้ ก็ไม่หนีหลักการ สองอย่างนี้

ยาจีน ที่หมอเขาแนะนำให้ใช้ชื่อ Shen Qi Da Bu Wan เป็นยาเพิ่มพลังงาน ช่วยให้อยากอาหาร ลดอาการกระหายน้ำ ในแมว ให้วันละ 1-2 เม็ด เช้า-เย็น

ในส่วนของ อาหารเสริม วิตามิน ใช้พื่อการป้องกัน ในกลุ่มนี้ มีทั้งพวก antioxidant เช่น วิตามินซี (โซเดียมแอสคอร์เบต) 500 มก. เช้า-เย็น (ต้องระวังท้องเสีย อาจลดขนาด หรือ งดไป)

วิตามินอี (ลดการอักเสบ) ใช้ 50 iu และ ซีลีเนียม (ใช้เสริมการดูดซึมวิตามินอี) 5-6 mcg วิตามินเอผสมกับพวกแครอทีน มีใน แครอท มะละกอ ฟักทอง ช่วยเรื่องทางเดินหายใจ แต่มีข้อจำกัดถ้าตับไม่ค่อยดี อาจมีพิษสะสมได้ ขนาดที่ใช้ 2,000 mg. สาหร่ายเซลเดียวหรือที่มีสีเขียวครอโรฟิล ช่วยลดแบคทีเรียและกำจัดพิษจากร่างกาย ในบางรายใช้แล้วอาจมีอาการท้องเสียหรือ เบื่ออาหาร ให้น้อยมาก 1/16 ช้อนชา วิตามินบีรวมและบี12 1/4 เม็ด/วัน หรือขนาด 1/4ของคน ผงสาหร่าย kelp หรือสาหร่ายอื่นๆ จะมีแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น แมกนีเซียม ช่วยเสริมการดูดซึมแคลเซียม 1/8 ช้อนชา/วัน แบคทีเรียกลุ่ม Acidophilus และ Bifidus แบคทีเรียสำคัญในลำไส้ จะช่วยกำจัดเชื้อโรคที่เป็นพิษ 1/4 ของขนาดในคน Superoxide dismutase และ antioxidant อื่นๆ เช่น catalase peroxide เป็น antioxidant ภายในเซลช่วยดึงสารพิษออกจากเซล ช่วยการกำจัดพิษในตับและผิวหน้าของข้อต่อ กรดไขมันที่ขาดไม่ได้ พวกโอเมก้าทั้งหลายช่วยขับพิษและกระตุ้นระบบภูมิต้านทาน

วิตามินและอาหารเสริมที่กล่าวมาไม่ได้หมายถึงให้บริโภคในคราวเดียว แต่ควรเลือกดูตามอาการ และควรปรึกษาสัตวแพทย์ถึงผลข้างเคียงเสมอ

ส่วน อาหาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญให้หลีกเลี่ยงของหมักดอง มีวัตถุกันเสีย เช่น Ethoxyquine และ BHA ในบ้านเราที่หาได้ง่ายสามารถนำไปผสมกับอาหารอื่นได้ก็มี ข้าวกล้อง ข้าวโพด ธัญพืช พวกถั่วต่างๆ ลูกเดือย รำข้าว ผักเขียว แครอท บรอคโคลี่ กะหล่ำปลี จะเลือกแบบไร้สาร หรือใช้น้ำล้างเอาหลายๆ น้ำ ก็ได้ ส่วนเนื้อสัตว์ควรเป็นพวกปราศจากสารเร่ง ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจจะยากสักนิดแต่ถ้าต้องทำกินในบ้านอยู่แล้วก็คงพอไหว นอกจากนี้พวกน้ำต้มเนื้อหรือกระดูกก็ใช้ได้ย่อยได้ง่าย ทั้งนี้ อย่าลืมว่าเจ้าเหมียวของเราเป็นมังสวิรัติไม่ได้นะ

ถึงคราวที่เราจะมาลองปรับใช้กับเจ้าเหมียวกันได้ แม้พวกเขาจะไม่ได้ป่วยแต่หากเราได้ดูแลในแนวทางที่เหมาะสมก็ยิ่งจะทำให้สุขภาพของพวกเขาแข็งแรงและห่างไกลจากโรคมากยิ่งขึ้น

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ช่วยด้วย!!! หมาหนูเป็นโรคประสาท

"ยุคสมัยนี้ใครๆก็เป็นโรคประสาทกันได้ง่ายๆ" นับประสาอะไรกับฉัน ก็เจ้าสี่เท้าเพื่อนยากของคุณไงล่ะ ไม่มีโอกาสออกไปเปิดหูเปิดตา ไม่มีโอกาสไปวิ่งหรือเข้าฟิตเนสกับเจ้านายเลย กินแล้วก็เห่าแล้วก็นอน นอนไปนอนมาชักเวียนหัว กลางวันนอนจนอิ่มแล้วกลางคืนจะให้นอนอีกก็คงไม่ต้องมาเรียกว่าเพื่อนผู้ซื่อสัตย์กันแล้ว ตกลงกลางคืนเป็นยามเฝ้าบ้านให้ดีกว่า แถมบางวันต้องถ่างตารอพ่อ/แม่เจ้าประคุณจนดึกดื่นกว่าจะกลับถึงบ้าน แล้วต้องมานั่งเป็นเพื่อนกินมื้อดึกอีกรอบ อืม! ยัมยัม อร่อยจัง! ไก่ทอดของโปรดเลย"

หมอกำลังคิดแทนว่าเจ้าตูบของเราน่าจะคิดอะไรทำนองนี้อยู่นะ ลองไปสำรวจดูพฤติกรรมเจ้าตูบของคนอื่นดูกันว่ามีอะไรที่ทะแม่งๆ แบบที่หมอจะเล่าต่อไปหรือไม่ (แฮะแฮะ เจ้าตูบของเราเองอาจจะเป็นบ้างก็ได้แต่ขืนยอมรับว่าของเราเริ่มเป็นโรคประสาทด้วย ก็คงต้องไปเปลี่ยนสภาพในบ้านกันขนานใหญ่ สู้แนะนำคนอื่นดีกว่า)

โรคจิตกับโรคประสาทนั้นมีความแตกต่างกัน ขอแยกแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า

โรคจิต เป็นโรคที่เกิดจากสภาพแวดล้อมกำหนดหรือตีกรอบอยู่ซ้ำๆ จนเป็นรูปแบบประจำ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเปลี่ยนแปลงสถานที่หรือบุคคลที่มาแวดล้อม เช่นดอลลี่จะไม่ยอมกินอาหารเช้าเองถ้าไม่มีคุณยายมาป้อน แต่ในเวลาเย็นกลับสามารถกินอาหารสุนัขที่เจ้านายนำมาวางไว้ให้ได้เป็นปกติ

โรคประสาทเป็นโรคที่เกิดจากมีพยาธิสภาพในสมอง อาจมีสาเหตุโน้มนำมาจากอาหารการกิน มลภาวะต่างๆ ความเจ็บป่วยเรื้อรัง รอยโรคที่เกิดขึ้นก็เป็นแบบมนุษย์เรา เช่นมีการพรุนเสื่อมหายไปของเนื้อสมอง เส้นเลือดตีบ เส้นเลือดอุดตัน สารสื่อประสาทในสมองทำงานช้าลงหรือผิดปกติไป เช่น สุนัขออกจากบ้านแล้วหาทางกลับเข้าบ้านไม่ได้เพราะจำทิศทางไม่ได้ หรือนอนไม่หลับแล้วลุกมากลางดึกและเที่ยวปลุกชาวบ้านให้รับรู้ร่วมกันว่าการนอนไม่หลับมันทรมานใจแค่ไหน

ในเมื่อโรคประสาทมีความซับซ้อนเนื่องจากมีสาเหตุมากมาย และมักต้องพึ่งวิธีตรวจราคาแพง พวกเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ฉีดสารทึบแสงเข้าเส้นเลือดเพื่อค้นหาตำแหน่งและความรุนแรง ทำให้การให้การรักษาไม่ค่อยก้าวไปไหน ถ้าไม่ถึงขั้นผ่าตัดสมอง ก็กินยาบำรุงประสาทไปเรื่อยๆ โชคดี ก็ทุเลาหรือหาย โชคร้ายเจ้านายก็จะเป็นตามไปด้วยอีกคน คราวนี้ก็ยุ่งละสิ

ในทางการแพทย์จีนนั้นแบ่งอาการโรคประสาท ตามลักษณะของความผิดปกติในอวัยวะต่างๆ หรือปัจจัยอื่นๆ เช่น ความร้อน หรือ ลมตีขึ้น (ความหมายทางการแพทย์จีนเป็นนามธรรมไม่ใช่ความหมายทั่วไป)

อาการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน อาจเกิดจากมีความร้อนหรือลมพุ่งขึ้นทำให้เกิดอาการพลุ่งพล่าน ความร้อนอาจจะเกิดจากการกินอาหารมากเกินไป ทำให้อาหารย่อยได้ไม่ดี จะเกิดแก๊สหรือท้องอืดจนนอนไม่หลับก็ได้ กลุ่มนี้ถ้าแก้เรื่องอาหาร ใช้ยาขัมลม และป้องกันโรคไขข้อ ปัญหาอาจจะหมดไปได้ง่าย

หากมีอารมณ์โกรธง่ายทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าอาการลมออกหู บ่อยๆ เพื่อนยากของเราก็มีสิทธิ์เป็นความดันสูง จนวันหนึ่งร่างกายปรับสมดุลย์ภายในไม่ไหวแล้ว เกิดอาการมึนงง ตากระตุก นอนไม่ได้ เวลาเดินจะเซหรือล้ม ร้องเรียกหรือเห่าไม่หยุดบั้นปลายของชีวิตมักจะวนเวียนอยู่กับยาระงับประสาทหรือยากันชัก

นอกจากนี้อาจมีภาวะไตพร่องชนิดขาดหยิน (คือไตทำงานได้ลดน้อยลงทำให้การขับถ่ายของเหลวออกจากร่างกายน้อยเกินไป ร่างกายเกิดความร้อนสูง คล้ายร้อนใน จนมีอาการหิวน้ำบ่อย ขี้ร้อนหอบง่าย) เมื่อไม่สามารถระบายน้ำและความร้อนได้มากเข้าก็จะนอนไม่หลับเช่นกัน

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆที่โน้มนำให้เกิดอาการทางประสาทได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญว่าอาการแบบใดหรือเมื่อใดจะก่อให้เกิดอันตราย ???

สัญญาณเตือน

  • มีอาการป่วยเรื้อรังทั้งที่กำจัดสาเหตุ หรือทราบสาเหตุแล้ว ก็ยังไม่หาย เช่น อาเจียนท้องผูก ท้องเสีย หิวน้ำบ่อย ไม่กินน้ำ ปัสสาวะน้อยหรือบ่อย ผิวหนังแดงคันมากทั้งมากทั้งที่ไม่มีเห็บหรือหมัด ผิวหนังมีรังแคมาก
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • กิจวัตรเปลี่ยนแปลง เช่น ปัสสาวะราดอุจจาระราดไม่เป็นที่ ตื่นบ่อย นอนมากขึ้น นอนน้อยลง สะดุดล้มง่าย ดุขึ้น หงุดหงิดง่าย ซึมลง กลัวความมืด กลัวฟ้าร้องฟ้าผ่า ไม่เหมือนแต่ก่อน
  • ขี้ร้อน ชอบหลบแดดหาที่ร่ม นอนที่เย็นๆ ในขณะที่ตัวอื่นๆอยู่เป็นปกติ
  • มีพื้นนิสัยขี้กลัว ขี้อาย ชอบซ่อน ชอบฝันร้ายร้องละเมอ เคยเป็นตัวที่เล็กแกร็นที่สุดในบ้าน หรือ มีอายุมาก
  • มีอาการร้องเรียกปลุกบ่อยในเวลากลางคืน เมื่อเวลาผ่านไป พบว่าไม่สามารถนอนหลับได้เลย ก็จะสติแตกไม่รู้ว่าร้องไปเพื่ออะไร และหยุดไมได้

การรักษา

ควรทำให้สัตว์สบายตัวขึ้น ถ้าพบว่ามีท้องผูกให้ล้วงออก (การล้วงจะทำให้มีการจุดทางอ้อมได้ ณ บริเวณนั้น) เพื่อลดความดันในช่องท้อง นวดกดจุดคลายความเครียดที่หน้าผาก จัดสภาพแวดล้อมให้เย็น มืด และเงียบสงบ หยุดยาฉีดที่ใช้กดประสาททุกชนิด

ในกรณีที่มีอาการประสาทหลอน เดินไม่หยุด ตกใจคลั่ง หอบ อ้าปากค้างจนหายใจไม่ทัน ถ้ายังรู้สึกตัวให้ป้อนน้ำ เพื่อกระตุ้นระบบประสาทการกลืนและช่วยลดความร้อนในร่างกายเมื่อมีการปัสสาวะ เท่าที่เคยใช้มาจะได้ผลดีกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน เพราะจะเน้นการจัดสภาพแวดล้อมมาก ทำให้ไม่พบผลข้างเคียงจากยา ในรายที่เป็นมาก จะแนะนำให้ฝังเข็ม ร่วมกับการใช้ยาแผนปัจจุบันและยาจีน

โรคภัยใดๆ ของเจ้าตูบที่เรารักสามารถรักษาหรือบรรเทาให้ดีขึ้นได้ ด้วยความใส่ใจและดูแลอย่างจริงจัง เพื่อเพื่อนยากของเราจะอยู่ได้อย่างมีความสุขมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุที่ยืนยาว

แพทย์ทางเลือกกับพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ในสัตว์เลี้ยง

เรามาว่ากันถึงเรื่องสุนัขกัดเด็กซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หรือไม่เป็นข่าวก็ตาม ก็มักชวนให้สยดสยองเสมอ จนหมอรู้สึกว่าผู้เลี้ยงสุนัขในบ้านเราขาดความรู้ในการเลี้ยง ขาดความเอาใจใส่ และระมัดระวังในการดูแลสัตว์ จนเกิดปัญหาสังคม เช่น การนำสุนัขหรือแมวไปปล่อย แถมบางครั้งมีลูกติดท้องมาด้วย

พฤติกรรมไม่พึงประสงค์มีที่มาจากผู้เลี้ยงดู สายพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม ที่รวมกันแล้วเกิดปัญหาขึ้นมาได้อย่างน่าขนลุก หากไม่สามารถปรับปรุงหรือแก้ไขได้

ในเรื่องของผู้เลี้ยงดูนั้น หมอมีความเห็นว่า คนไทยใจดี แต่อาจจะใจอ่อน ไม่ค่อยมีวินัยในการอบรมเลี้ยงดู ชอบตามใจสัตว์เลี้ยงจนในที่สุด เขาจะไม่คิดว่าเราเป็นเจ้านาย แต่เป็นลูกน้องที่ต้องยำเกรงเขาแทน และถ้าเป็นไปได้อยากให้ผู้ที่คิดจะเลี้ยงเตรียมตัวก่อน แบบเตรียมตัวจะมีครอบครัวมีลูกทำนองนี้เลย เพราะการเลี้ยงดูอบรมนั้นเป็นสิ่งที่พูดง่ายทำยาก ไม่เช่นนั้นในโลกนี้คงมีแต่คนดีๆ และสัตว์เลี้ยงดีๆ กันหมด

ส่วนสายพันธุ์นั้น เป็นสิ่งที่เรากำหนดได้ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ต้องการการฝึกอย่างเข้มข้น หรือเลี้ยงไปตามธรรมชาติก็ได้จะไม่ดุตามสายพันธุ์ ถ้าไม่มั่นใจจริงๆ ก็ควรเลือกพันธุ์ที่เขาเรียบร้อยหน่อย เช่น ลาบราดอร์ ยอร์คเชียร์ หรือ ปั๊ก เป็นต้น

สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ดูเหมือนเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเพราะเป็นสิ่งของ บางทีกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เช่น การกักขังสุนัขในกรงหรือที่แคบ จะทำให้เขาหงุดหงิดและดุหวงที่อยู่มากเป็นพิเศษได้ แต่ไม่มีทางแก้เพราะไม่มีที่ให้เขาเดินเล่น ไม่มีญาติที่จะฝากจูง ไม่มีรถไปเที่ยว หรือเหตุผลอื่นๆ อีกร้อยแปดพันประการ

การแก้ไขพฤติกรรมในปัจจุบันจะเน้นการเปลี่ยนกิจวัตรเดิมๆ การฝึกร่วมกับการใช้ยา ซึ่งยาเหล่านั้นมีผลข้างเคียงในการปรับสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) แต่เป็นพิษกับตับหรือไต(หากใช้เป็นเวลานานๆ) ปากแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง ใจเต้นเร็ว น้ำตาแห้ง น้ำหนักลด ไม่มีแรง สั่น ความจำไม่ดี เป็นต้น รายงานการใช้ยายังคงเป็นงานวิจัยในคน แล้วนำมาดัดแปลงใช้ในสัตว์ ซึ่งผู้ใช้ยาจำเป็นต้องปรึกษาสัตวแพทย์ และควรใช้ยาคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม ในบ้านเรายังไม่มีจิต(สัตว) แพทย์จึงคงต้องใช้วิธีลองรักษากันไปก่อน แต่ถึงแม้ในต่างประเทศเอง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับสัตวแพทย์ที่รักษาโรคทางใจ กว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้สมบูรณ์

จะว่าบังเอิญก็ได้ที่หมอได้ฝังเข็มสุนัขแก้ไขอาการปวดข้อสะโพก แล้วปรากฏว่าความดุของเขาลดลง ขี้เล่นมีเหตุมีผลขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับอาจารย์ที่เคยสอนฝังเข็มว่า ผลจากการลดปวด จะช่วยเรื่องอารมณ์ได้ มีผลให้อารมณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในแมวที่ฝังเข็มแล้ว มีอาการเจ็บปวดลดลง แต่บางตัวความดุหาเรื่องท้าทายตัวอื่นยังไม่ลดลง จึงเป็นไปได้ว่าสิ่งแวดล้อมอาจมีความสำคัญมากกว่า ในการกำหนดบทบาทการเป็นผู้นำ ในบ้านที่มีแมวมาก ไม่ว่าจะเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย

ขออธิบายความเพิ่มเติมเรื่องการฝังเข็ม โดยหลักการระบบสรีระทางประสาทวิทยาของการฝังเข็มที่มีผลต่อการปรับสมดุลย์สารสื่อประสาทอย่างง่าย ก็คือ เมื่อฝังเข็มกระตุ้นถูกจุดฝังเข็ม จุดฝังเข็มแต่ละจุดวิ่งไปตามแนวเส้นนั้นๆ แล้วเชื่อมต่อเข้าสู่สมองส่วนกลาง (Mid brain) มีผลให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทหลายชนิด เช่น Serotonin Norepinephrineช่วย บล็อคความเจ็บปวด กระตุ้นต่อมพิทูอิตารี่ และสมองส่วนไฮโปทาลามัส ใหัผลิตฮอร์โมน ACTH ทำให้คอร์ติซอลจากต่อมหมวก ไต และเบต้าเอ็นโดฟิน(สารความสุข)จากในร่างกายเข้าสู่ในกระแสเลือดและน้ำไขสันหลัง เข็มจะกระตุ้นเส้นประสาทไขสันหลังให้หลั่ง Enkephalin และ Dynorphin อีกทาง และสุดท้ายคือ จุดที่ฝังเข็ม แต่ละจุดจะมีขบวนการอักเสบเฉพาะที่เข้ามาเสริม ทำให้มี Mediators ต่างๆ ที่มีผลต่อการขยายตัวของเส้นเลือด ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ หรือหยุดยั้งการอักเสบ เช่น histamine acetylcholine bradykinin serotonin และ corticosteroid ซึ่งผลิตขึ้นภายในร่างกายเอง มาช่วยให้เกิดผลโดยรวมคือ ลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดความตึงเครียด ทำให้มีการซ่อมแซมร่างกายตามมา

จะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม การใช้ยารักษาโรคทางพฤติกรรมจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับ serotonin histamine acetylcholine Norepinephrine เพียงแต่การใช้ยาจะเป็นต้องหาขนาดยา ที่เหมาะสมในสัตว์แต่ละชนิดและแต่ละอาการ เพื่อให้บรรลุผลตามต้องการ

การปรับสมดุลย์ของสารสื่อประสาทหรือระบบประสาทให้เข้าที่เข้าทาง เสริมด้วยการจัด การปรับพฤติกรรม น่าจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง

ส่วนการใช้อาหารเสริม มีรายงานการใช้ melatonin ซึ่งต้องระวังในสุนัขและแมวที่เป็นเบาหวาน อาจกดการสืบพันธุ์ได้

ความเชื่อในเรื่องการใช้วัคซีนมากเกินไป ทำให้เหนี่ยวนำภาวะภูมิต้านทานไวเกินจนทำให้สมองอักเสบยังมีอยู่มากในหมู่สัตวแพทย์ทางเลือกในยุโรป หรือในอเมริกา แต่ในบ้านเรายังไม่มีรายงาน เนื่องจากโรคติดต่อของบ้านเรายังคงเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้ความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับผลเสีย ของวัคซีนยังไม่น่าสนับสนุนนัก

หรือการใช้ยาสมุนไพรจีนช่วยลดปวด ช่วยการไหลเวียนเลือด อย่างในรายที่สมองมีการบาดเจ็บ มีปัญหาทางอารมณ์ ก็มีคำแนะนำให้ใช้ได้ แต่เนื่องจากยาแผนจีนยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับใน บ้านเรา(แต่ยอมรับในต่างประเทศ) ตัวอย่างชนิดยาที่ใชัสำหรับโรคย้ำทำ เช่น ไล่งับแมลงวัน ไล่งับหางตัวเอง หรือ พฤติกรรมก้าวร้าว เช่น Zhen Gan Xi Feng Tan หรือ Xue Fu Zhu Yu Tang การใช้ยาเหล่านี้มีข้อควรระวังเช่นกัน ในรายตั้งท้อง มีอาการร้อน (ลิ้นแดงจัด ข้อต่ออุ่น ในยาตัวแรก) และยาตัวที่สองห้ามใช้ในรายที่มีเลือดออก การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ กินยา ต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่(พวก Aspirin Warfarin Coumarin) ตั้งท้องและห้ามใช้เป็นเวลานาน

สามารถสรุปสั้นๆ ได้ว่าปัญหาทางพฤติกรรมสัตว์ต้องใช้หลากหลายวิธีในการปรับไปสู่พฤติกรรมที่ต้องการ และต้องอาศัยความรู้ ความใส่ใจและความอดทนอย่างยิ่งของ ผู้เลี้ยงดู และสำคัญที่สุดคือวิธีนี้ไม่มีทางลัด

หนังสืออ้างอิง:

Wynn SG and Marsden S. Manual of Natural Veterinary Medicine Science and Tradition.Mosby, St. Louis, Missouri, Veterinary Acupuncture Manual. International Veterinary Acupuncture Society. 2001.

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เคล็ดลับสู่ความหนุ่มสาว ของเพื่อนแสนรัก


ในฐานะที่หมอได้มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่แก่และไม่แก่(เป็นส่วนน้อย) มาพอสมควร มีความรู้สึกประทับใจในความรักที่เจ้าของและสัตว์เลี้ยงที่มีต่อกันอย่างไม่มีเงื่อนไข อาการที่หมอมักจะพบเป็นอันดับต้นๆมักเกี่ยวกับขาไม่มีแรงหรือกะเผลก ลุกเองไม่ได้ ส่วนน้อยที่จะรอจนกระทั่งเดินไม่ได้กินไม่ได้แล้วค่อยพามา

อายุเฉลี่ยของคุณตูบคุณเหมียวในช่วงปีหลังๆนี้ เปลี่ยนแปลงจากต่ำกว่า 10 ปี มาเป็น ค่อนไปทาง 13 ปี ขึ้นไป ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำถามนี้เกิดขึ้นในใจบ่อยครั้งเมื่อมีสัตว์ป่วยตัวใหม่ๆ นัดตรวจ ที่สูงอายุที่สุดเมื่อนับเป็นปีของคน คือ 23 ปี และ ในบ้านนั้นมักมีอายุเกินกว่าอายุที่หมอเคยพบในพันธุ์เดียวกันเสมอ เช่น ปักกิ่งขนาด 3 กิโลกรัม อายุ 21 ปี พูเดิ้ลทอยอายุ 13 ปี นอกนั้นที่อายุไม่ยืนมักมีโรคพยาธิในเลือด โรคที่น่าจะเกิดจากทางพันธุกรรม

ส่วนบ้านอื่นๆ ที่มีสัตว์เลี้ยงสูงอายุที่ไม่เคยรักษากันมาก่อน (ขอออกตัวก่อนว่า เขาสามารถมีอายุยืนนานเป็นพิเศษด้วยวิธีดูแลสุขภาพวิธีอื่นๆได้ นอกเหนือจากการฝังเข็ม) มักมีอายุเกิน15 ปี ไปแล้ว

สิ่งที่ได้จากการสังเกตและซักประวัติเจ้าของที่แสนดีของตูบและเหมียว พบความเหมือนกันอย่างบังเอิญ อยู่หลายอย่างด้วยกัน ขอแแยกเป็นหัวข้อดังนี้

สิ่งแวดล้อม บรรยากาศถ่ายเทจะมีหรือไม่มีเครื่องปรับอากาศก็ได้ ถ้ามีเครื่องปรับอากาศจะต้องสังเกตอาการหนาวสั่น เนื่องจากสัตว์ชรากลัวหนาวเหมือนคนเช่นกัน สิ่งแวดล้อมที่ดีควรห่างจากอากาศและน้ำเสีย ไม่มีเสียงอึกทึกจนใจเต้นแรงไม่เป็นจังหวะ (ขออนุญาตเหน็บแนมน้องๆ ทีนิยมเผื่อแผ่เสียงดนตรีเร้าใจให้ทุกคนรอบข้างว่าจะช่วยให้เขาป่วยด้วยโรคหัวใจเร็วขึ้น)

การป้องกันโรค โรคในที่นี้รวมถึงโรคติดต่อ โรคติดเชื้อ โรคพยาธิปาราสิตภายนอกภายในต่างๆ ลดทอนอายุขัยของสัตว์ที่รักได้ หากลืมกำจัดเห็บ หมัด อย่างสม่ำเสมอ ส่วนวัคซีนป้องกันโรคยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่สัตวแพทย์ทางเลือกว่าควรฉีดต่อไปหรือไม่ ถึงแม้ว่าจากการสอบถามจะพบว่าไม่ค่อยมีเจ้าของท่านใดพาสุนัขหรือแมวแก่จัดไปฉีดวัคซีน เนื่องจากเขาแน่ใจว่าอยู่บ้านที่ปลอดหนู สัตว์ต่างๆ และแมลง แต่ก็เคยมีสุนัขที่ขาดวัคซีนและภูมิต้านทานต่อโรคหัด จนติดหัดตอนแก่ โชคดีที่ไม่ตาย และไม่พิการจากเชื้อขึ้นสมอง เพราะมีรายงานการเป็นโรคมะเร็งในแมวจากการฉีดวัคซีน แต่คาดว่าในปัจจุบันวัคซีนกลุ่มนั้นน่าจะถูกยกเลิกไปแล้ว

ใช้ยาเท่าที่จำเป็น การใช้ยาหรืออาหารเสริมเพื่อให้มีสุขภาพดีตลอดไปนั้นไม่ถูกกับหลักการทางการแพทย์ตะวันออก เนื่องจากฤดูกาลและลักษณะตามธาตุหรือธาตุเจ้าเรือนมีการเปลี่ยนแปลง จึงควรกินให้อาการลักษณะที่ไม่ต้องการนั้นหายไปสักพักให้หยุดได้เพื่อไม่ให้เกิดการสะสม แต่เนื่องจากระบบทุนนิยม บริโภคนิยม ทำให้มีการซื้อขายยากันทีละมากๆ เป็นขวดๆ หรือซื้อ 2แถม1 ทำให้ผู้คนเคยชินกับการกินเป็นประจำ ปัจจุบันนี้คำว่า "เจียดยา" คงไม่มีใครทราบความหมายกันแล้ว ยาหรืออาหารเสริมประเภทวิตามินที่ไม่สะสมในร่างกายอาจต้องใช้เป็นประจำภายใต้เงื่อนไขที่ว่าร่างกายมีการขาดเนื่องจากกินอาหารไม่ครบหมู่หรืออวัยวะนั้นๆหย่อนสมรรถภาพไปแล้ว

นิสัย สัตว์เลี้ยงที่หมอมีโอกาสได้รักษามักมีนิสัยสงบเรียบร้อยมาก่อนไม่เรื่องมาก ไม่เลือกกินจนเกิด ภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ค่อนข้างสุขุม ไม่ขี้โมโห เครียดง่าย ขี้อิจฉาหรือขี้งอน กินนอนเป็นเวลา

น้ำหนัก โดยทั่วไปจะไม่อ้วนหรือเคยอ้วนแล้วควบคุมอาหาร ทำให้ไม่มีโรคหัวใจ ข้ออักเสบ เบาหวาน มะเร็งมาเยือนช้าเป็นแบบเติบโตช้า

น้ำดื่ม น้ำสะอาดที่ไม่เติมรสชาดประเภทน้ำเปลี่ยนนิสัยของคนไม่ควรหัดให้เขาจนเคยชิน ไม่มีน้ำตาลประเภทน้ำอัดลม หรือน้ำหวาน ไอศกรีม น้ำจืดที่สะอาดจะช่วยให้การไหลเวียนเลือดไม่ติดขัด การกรองของเสียที่ไตดี ลำไส้ดูดซึมอาหารดี

ในสัตว์ที่แก่มากๆ มักไม่กระหายน้ำ เนื่องจากศูนย์การควบคุมความกระหายน้ำที่สมองทำงานด้อยลง ท่านเจ้าของสัตว์มักมีตารางหรือปริมาณน้ำกำหนดให้จนไม่เกิดอาการขาดน้ำ เป็นการดูแลที่ช่วยให้เขาแข็งแรงได้ด้วยตนเอง

อาหารใกล้เคียงธรรมชาติ มนุษย์และสัตว์ที่มีอายุมากมักมีความต้องการอาหารลดลง เนื่องจากพฤติกรรมตามวัยที่ช้าลง สุนัขและแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่โชคดีที่มีสูตรอาหารสำเร็จรูปที่ผ่านการค้นคว้าวิจัยแล้วว่าช่วยป้องกันโรคในแต่ละวัยได้ ทำให้สัตว์เลี้ยงทั้งคู่มีอายุเฉลี่ยเกินมาตรฐานมนุษย์อย่างเราๆ ไปแล้ว น่าอิจฉาไหมล่ะ

ในกรณีที่ไม่สามารถให้อาหารสำเร็จรูปได้ (สัตว์ป่วยที่หมอพบมักกินอาหารหลากหลาย อาจมีอาหารสำเร็จรูป ข้าวกับอาหารเกือบครบห้าหมู่ ผลไม้เช่น กล้วย ส้ม ผักใบเขียว ส่วนแมวไม่ได้ให้ปลาทูบ่อยเพราะโปรตีนสูงจะจากไปเพราะไตวายก่อนวัยได้) ในส่วนของแมวอย่าหาว่าหมอเชียร์อาหารสำเร็จรูปที่แบ่งตามวัยเลยนะเพราะไม่ได้ค่าโฆษณา แต่หมอกลับพบว่า คนที่ใช้อาหารที่กล่าวนี้มักมีแมวที่อายุยืนเกิน 17 ปี ต่างจากคนที่เลี้ยงด้วยความรักที่หมายถึงการตามใจ กลับพบโรคไตเร็วกว่ามาก

อ่านมาถึงตอนนี้แล้ว หลายท่านคงจะหันมาเอาอย่างเหมียวและตูบของเรากันบ้าง ไม่แน่นะ อีกสัก 40-60 ปี ข้างหน้าคงจะมีใครหลายๆ คนมาบอกเล่าผลสำเร็จที่ได้จากความลับส่วนตัวของเหมียวและตูบกันบ้าง