วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เป็นเอดส์ยังมีความหวัง


ในบทความนี้จะขอเปลี่ยนบทความเบาๆ สำหรับสัตว์เลี้ยงมาเป็นเรื่องหนักๆ ของทั้งคนและเจ้าเหมียวแสนรัก

โรคเอดส์ เป็นโรคที่หากใครได้ยินได้ฟังก็ต้องรู้สึกประหวันพรันพรึง ไม่อยากพบพานหรือเข้าใกล้ด้วยประการทั้งปวง เพราะเข้าใจว่าโรคนี้เป็นแล้วไม่หายมีและมีแต่รอวันที่อาการจะทรุดลงเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงโรคเอดส์นั้นถือว่าเป็นโรคที่รักษาได้ถึงแม้จะไม่หายขาด และการลงมือป้องกันปราบปรามโรคร้ายนี้ยังคงต้องเข้มข้นกันต่อไป

หัวข้อที่น่าสนใจก็คือ การแพทย์ทางเลือก จะมีส่วนเสริมภูมิต้านทานแก่ผู้เป็นโรคนี้ได้หรือไม่??? อย่างเช่น การฝังเข็มเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หมอเคยถามแพทย์ฝังเข็มว่าได้เคยทดลองทำการฝังเข็มให้กับผู้ป่วยบ้างไหม คำตอบที่ได้รับทำให้ต้องอึ้งและจนด้วยเหตุผลก็คือ "ไม่กล้าทำ เพราะกลัวเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากเข้มที่มาจากผู้ป่วย"

ถ้าเราลองหันมาดูคุณเหมียวที่ไม่ยอมนอนหวดจนต้องยืนยันความเป็นแมวเก้าชีวิตด้วยความเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจ เคล็ดลับคือ เพราะไม่รู้เลยไม่เสียกำลังใจ (ใครที่มีเพื่อนหรือคนรู้จักที่กำลังเสียใจกรุณาเล่าเรื่องแมวตัวเล็กๆ เหล่านี้ให้เขาเป็นตัวอย่าง เผื่อเขาจะลองคิดอย่างแมวดู) อาจารย์ฝรั่งของหมอมีเพื่อนทำงานทางภาคเหนือของบ้านเราเคยเล่าให้ฟังว่า ผู้ป่วยโรคเอดส์ชาวไทยเคยได้รับการฝังเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (ซึ่งไม่มีตัวรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการ) กลับพบว่าผลไม่เป็นตามที่คาดหวัง สิ่งเดียวที่หมอคิดว่ามีความแตกต่างกันระหว่างคนกับแมวนั้นก็คือ กำลังใจ

จากการที่หมอได้ติดตามแมวมากกว่า 5 ตัว ที่ป่วยด้วยโรคนี้และได้รับการรักษาด้วยการฝังเข็มสัปดาห์ละครั้ง นาน 5 ครั้ง ซึ่งพบว่าแมวมีอาการกระปรี้กระเปร่า อยากอาหาร เริ่มเล่นหยอกล้อบ้าง ส่วนแผลในปากและอาการท้องเสียนั้นอาจจะดีขึ้นจากยาแผนปัจจุบันที่ใช้ร่วมกัน โดยถือ หลักการแพทย์ผสมผสาน

แมวเหล่านี้อาจมีผลเลือดที่ไม่ดีนัก เช่น เลือดจาง ติดเชื้อ เม็ดเลือดขาวต่ำ ก็จะให้ยาแผนปัจจุบันกินร่วมด้วย ติดที่ว่าเป็นงานวิจัยจึงไม่สามารถนำยาสมุนไพรมาใช้ในกลุ่มทดลองได้ งานวิจัยนี้ยังไม่สิ้นสุดโครงการแต่ขาดนิสิตมาทำงานในส่วนของห้องปฏิบัติการจึงยังไม่สรุปผล แต่ที่หมอรุ้สึกก็คือ อาการจะดีขึ้น (มีตัวหนึ่งดีเกินไปจนหนีเที่ยวไปประสบเหตุถูกสุนัขรุมกัดตาย ทำเอาหมอมึนไประยะหนึ่ง)

ทีนี้ ถ้าเราไม่ฝังเข็มจะเลือกใช้วิธีอื่นได้บ้างไหม คำตอบคือ มี ใช้ได้ทั้งยาสมุนไพรจีน วิตามิน อาหารเสริมแบบต่างๆ รวมถึงการนวดกดจุดแบบจีน ส่วนผลนั้น หมอไม่ทราบเนื่องจากไม่ได้ลองทำวิธีเหล่านี้เป็นหลัก แต่ผู้เขียนตำรานวดกดจุดแบบจีน Dr. Cheryl Schwartz ได้แนะนำให้เจ้าของแมวลองใช้ดู ซึ่งเธอมีประสบการณ์ด้านการสัตวแพทย์ทางเลือกมากว่า 15 ปีแล้ว

ซึ่งจะขออนุญาตแปลบางส่วนมาลงไว้เป็นวิทยาทาน ส่วนตัวของหมอที่ใช้ในตัวที่ป่วยนอกเหนืองานวิจัย (งานวิจัยจะกำหนดตำแหน่งจุดไม่สามารถเปลี่ยนตามอาการได้) ก็ไม่ตรงกับผู้เขียนตำราเนื่องจากบ้านเรามียาดีอยู่มาก หาได้ง่าย และเน้นการฝังเข็มมากกว่าจึงขอไม่กล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัว แต่อาจจะนำมาเล่าให้ฟังในครั้งต่อๆ ไป

หลักการใช้สมุนไพรในรายที่มีภูมิต่ำ จะใช้เพื่อบำรุง (tonification) และใช้เพื่อการป้องกัน (prevention) ดังนั้นไม่ว่าคุณจะแนะนำใครที่เป็นโรคนี้ ก็ไม่หนีหลักการ สองอย่างนี้

ยาจีน ที่หมอเขาแนะนำให้ใช้ชื่อ Shen Qi Da Bu Wan เป็นยาเพิ่มพลังงาน ช่วยให้อยากอาหาร ลดอาการกระหายน้ำ ในแมว ให้วันละ 1-2 เม็ด เช้า-เย็น

ในส่วนของ อาหารเสริม วิตามิน ใช้พื่อการป้องกัน ในกลุ่มนี้ มีทั้งพวก antioxidant เช่น วิตามินซี (โซเดียมแอสคอร์เบต) 500 มก. เช้า-เย็น (ต้องระวังท้องเสีย อาจลดขนาด หรือ งดไป)

วิตามินอี (ลดการอักเสบ) ใช้ 50 iu และ ซีลีเนียม (ใช้เสริมการดูดซึมวิตามินอี) 5-6 mcg วิตามินเอผสมกับพวกแครอทีน มีใน แครอท มะละกอ ฟักทอง ช่วยเรื่องทางเดินหายใจ แต่มีข้อจำกัดถ้าตับไม่ค่อยดี อาจมีพิษสะสมได้ ขนาดที่ใช้ 2,000 mg. สาหร่ายเซลเดียวหรือที่มีสีเขียวครอโรฟิล ช่วยลดแบคทีเรียและกำจัดพิษจากร่างกาย ในบางรายใช้แล้วอาจมีอาการท้องเสียหรือ เบื่ออาหาร ให้น้อยมาก 1/16 ช้อนชา วิตามินบีรวมและบี12 1/4 เม็ด/วัน หรือขนาด 1/4ของคน ผงสาหร่าย kelp หรือสาหร่ายอื่นๆ จะมีแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น แมกนีเซียม ช่วยเสริมการดูดซึมแคลเซียม 1/8 ช้อนชา/วัน แบคทีเรียกลุ่ม Acidophilus และ Bifidus แบคทีเรียสำคัญในลำไส้ จะช่วยกำจัดเชื้อโรคที่เป็นพิษ 1/4 ของขนาดในคน Superoxide dismutase และ antioxidant อื่นๆ เช่น catalase peroxide เป็น antioxidant ภายในเซลช่วยดึงสารพิษออกจากเซล ช่วยการกำจัดพิษในตับและผิวหน้าของข้อต่อ กรดไขมันที่ขาดไม่ได้ พวกโอเมก้าทั้งหลายช่วยขับพิษและกระตุ้นระบบภูมิต้านทาน

วิตามินและอาหารเสริมที่กล่าวมาไม่ได้หมายถึงให้บริโภคในคราวเดียว แต่ควรเลือกดูตามอาการ และควรปรึกษาสัตวแพทย์ถึงผลข้างเคียงเสมอ

ส่วน อาหาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญให้หลีกเลี่ยงของหมักดอง มีวัตถุกันเสีย เช่น Ethoxyquine และ BHA ในบ้านเราที่หาได้ง่ายสามารถนำไปผสมกับอาหารอื่นได้ก็มี ข้าวกล้อง ข้าวโพด ธัญพืช พวกถั่วต่างๆ ลูกเดือย รำข้าว ผักเขียว แครอท บรอคโคลี่ กะหล่ำปลี จะเลือกแบบไร้สาร หรือใช้น้ำล้างเอาหลายๆ น้ำ ก็ได้ ส่วนเนื้อสัตว์ควรเป็นพวกปราศจากสารเร่ง ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจจะยากสักนิดแต่ถ้าต้องทำกินในบ้านอยู่แล้วก็คงพอไหว นอกจากนี้พวกน้ำต้มเนื้อหรือกระดูกก็ใช้ได้ย่อยได้ง่าย ทั้งนี้ อย่าลืมว่าเจ้าเหมียวของเราเป็นมังสวิรัติไม่ได้นะ

ถึงคราวที่เราจะมาลองปรับใช้กับเจ้าเหมียวกันได้ แม้พวกเขาจะไม่ได้ป่วยแต่หากเราได้ดูแลในแนวทางที่เหมาะสมก็ยิ่งจะทำให้สุขภาพของพวกเขาแข็งแรงและห่างไกลจากโรคมากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: